|
การจัดการมรดก มรดก คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายที่มีอยู่ก่อนถึงแก่ความตาย รวมทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ เช่น กรรมสิทธิ์ในที่ดิน รถยนต์ ห้องชุด สิทธิการเช่าซื้อ ทรัพย์สินต่างๆ เงินฝากในธนาคาร ส่วนเงินบำเหน็จบำนาญ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และเงินประกันชีวิตของผู้ตายไม่เป็นมรดก
ขณะที่บุคคลมีชีวิตอยู่นั้น อาจมีทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ เมื่อบุคคลเหล่านั้นถึงแก่ความตาย ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดดังกล่าวของผู้ตายดังกล่าว หากไม่เป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็จะเป็น “มรดก” หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย อาจมีปัญหาข้อขัดของในการจัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เพื่อทำหน้าที่รวบรวม ทำบัญชี และแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
ผู้ที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก มี 3 ประเภท ดังนี้
1. ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายได้แบ่งทายาทโดยธรรมไว้ 6 ลำดับ ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่ร้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา รวมทั้งคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ก็ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและมีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ แต่ทายาทที่ลำดับชั้นที่สนิทกับเจ้ามรดกมากที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย เช่น หากผู้ตายมีบุตร ทายาทชั้น ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก เป็นต้น
2. ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับกองมรดกของผู้ตาย เช่น ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตาย แต่มีทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายเป็นต้น
3. พนักงานอัยการ ซึ่งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจร้องขอให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลแทนตนเองได้
คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก
ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ต้องบรรลุนิติภาวะไม่เป็นบุคคลวิกลจริตไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ และต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
หน้าที่ของผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและ มีหน้าที่รวบรวมมรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีมรดกและทำรายการ แสดงบัญชีการจัดการและแบ่ง มรดก โดยต้องจัดการไปในทาง ที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็น ปรปักษ์ต่อมรดกไม่ได้
หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่ แบ่งมรดกให้ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ ศาลมีคำสั่ง ถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่าง อื่นที่สมควรก็ได้
การยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกให้ยื่นต่อศาลที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย หากผู้ตายมีมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกนั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ซึ่งมีศาลที่สามารถยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ |
|